

.jpg)
 2(1).jpg)
(1).jpg)






กรมปฏิบัติการพิเศษ :มีหน้าที่เตรียมและใช้กำลังในการถวายความปลอดภัยพระบรมวงศานุวงศ์ อารักขาบุคคลสำคัญ ปราบปรามการก่อการร้ายสากล ปฏิบัติการช่วยชีวิตผู้ประสบภัยทางอากาศ สนับสนุนการป้องกันและรักษาความปลอดภัยที่ตั้งทางทหารของกองทัพอากาศ และปฏิบัติหน้าที่ตามแต่จะได้รับมอบหมาย
ฝ่ายสนับสนุนส่งทางอากาศ :มีภารกิจหลักในการเก็บรักษาและซ่อมบำรุงร่ม การส่งกำลังทางอากาศ การสนับสนุนอุปกรณ์การโดดร่มให้กับนักโดดร่มจากอากาศยานเป็นประจำ รวมทั้งการปฏิบัติหน้าที่อื่นๆตามที่ได้รับมอบหมาย นอกเหนือจากภารกิจหลักในการสนับสนุนร่มบุคคลทั้งแบบยุทธวิธีมาตรฐาน (ร่มกลม) ร่มแบบยุทธวิธีความเร็วสูง (ร่มเหินเวหา) ร่มแบบยุทธวิธีวามเร็วสูงพิเศษ (ร่มกีฬา)แล้ว ยังได้คิดค้นดัดแปลงนำร่มบุคคลที่หมดอายุการใช้งานแล้ว มาทำเป็นร่มทิ้งบริภัณฑ์ทางอากาศ ซึ่งสามารถใช้งานได้เป็นอย่างดี
กองค้นหาและช่วยชีวิต :เป็นหน่วยงานในสังกัดกรมควบคุมการปฏิบัติทางอากาศ หน้าที่และขีดความสามารถในการปฏิบัติงานเหมือนกับร้อย.๑ พัน.๒ กรม.ปพ.
ร้อย.๑ พัน.๒ ปพ.:เป็นหน่วยงานในสังกัดกรมปฏิบัติการพิเศษของกองทัพอากาศ มีหน้าที่หลักในการปฏิบัติการค้นหาและช่วยชีวิตนักบินในพื้นที่ปรกติและในพื้นที่การรบ เนื่องจากอากาศยานเกิดอุบัติเหตุ มีขีดความสามารถในการเข้าปฏิบัติการได้ทุกพื้นที่ ให้การช่วยเหลือด้านการรักษาพยาบาล นอกจากนี้ยังสามารถแปรสภาพกำลังเป็นชุดควบคุมการรบ (Combat Control Team:CCT) โดยให้การสนับสนุนกำลังทางอากาศในการเตรียมพื้นที่ร่อนลงจอดให้อากาศยาน ตำบลส่งลงสิ่งอุปกรณ์ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่ออากาศยานที่เข้าปฏิบัติการในพื้นที่อันตราย
หลักสูตรส่งทางอากาศ :ระยะเวลาในการฝึกศึกษาทั้งทางภาควิชาการและภาคปฏิบัติตลอดหลักสูตรรวม ๕ สัปดาห์ ผู้เข้ารับการฝึกจะต้องศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติต่างๆของร่มชูชีพ,การลงสู่พื้น,การบังคับร่ม,การปฏิบัติบนอากาศยาน,การปฏิบัติเมื่อโดดร่มออกจากอากาศยานจริง ซึ่งจะทำการโดดคนละ ๕ ครั้ง(บางครั้งจะเพิ่มการโดดร่มในเวลากลางคืน ๑ ครั้ง)โดยเป็นการโดดแบบยุทธวิธีมาตรฐาน(โดยใช้ร่มกลมแบบ MC1-1C)ใช้สายดึงประจำที่(Static Line)ที่ความสูงประมาณ ๘๐๐ - ๑,๕๐๐ ฟุต
หลักสูตรเปลี่ยนแบบร่ม :หรือการฝึกแบบดิ่งพสุธา(เหินเวหา) เป็นการฝึกในขั้นที่สูงขึ้นจากการโดดแบบยุทธวิธีมาตรฐาน เนื่องจากร่มที่ใช้เป็นร่มเหลี่ยมที่มีความเร็วในการเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยอัตราเร็วสูง จึงต้องใช้ระยะเวลาในการฝึกนานพอสมควร โดยจะฝึกภาคที่ตั้งประมาณ ๑ เดือน เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของเงื่อนเชือก,คุณลักษณะของร่ม,การแก้ไขเหตุติดขัดของร่ม,ลักษณะทางการโดดร่ม,ลักษณะทางอากาศพลศาสตร์ เป็นต้น จากนั้นจะฝึกภาคอากาศอีก ๒ เดือน กว่าจะจบหลักสูตรนี้ได้ ผู้เข้ารับการฝึกจะทำการโดดร่มไม่น้อยกว่า ๕๐ ครั้ง โดยจะเริ่มตั้งแต่การโดดแบบต่อสาย ไปจนถึงการหกคะเมนตีลังกาในอากาศ สามารถแหวกว่ายในอากาศได้จนเกิดความชำนาญในการกระตุกร่มเอง
หลักสูตรค้นหาและช่วยชีวิต :มุ่งให้ผู้เข้ารับการฝึกมีขีดความสามารถในการโดดร่ม เพื่อภารกิจค้นหาและช่วยเหลือบุคคลที่อยู่ในสภาวะอันตรายจากอากาศยานตก ทั้งในพื้นที่การรบและในพื้นที่ปกติ ทำการปฐมพยาบาลรวมไปถึงการผ่าตัดเล็กๆให้ผู้ที่รอรับการช่วยชีวิตในระหว่างที่รอการส่งกลับยังพื้นที่ปลอดภัย สามารถทำหน้าที่เป็นชุดควบคุมการรบ(Combat Control Team:CCT) และฝึกให้มีความชำนาญในการชิงตัวประกันหรือนักบิน(Personal Recovery Team:PRT)ที่อยู่ในความควบคุมของฝ่ายตรงข้ามกลับคืนมา
หลักสูตรปฏิบัติการพิเศษ :หรือหลักสูตรคอมมานโด มุ่งเน้นให้ผู้เข้ารับการฝึกสามารถปฏิบัติการต่อต้านการก่อร้ายสากลได้ทุกรูปแบบ โดยเฉพาะในรูปแบบของการปล้นยึดอากาศยาน(Hijacking) สามารถทำการจู่โจมเป้าหมายด้วยความเงียบ รวดเร็ว ใช้เวลาน้อย และทำให้ทุกภารกิจที่ได้รับมอบหมายเกิดความสูญเสียน้อยที่สุด เข้าปฏิบัติต่อเป้าหมายได้ด้วยการเดินเท้า ใช้ยานพาหนะหรือการส่งทางอากาศ สามารถใช้อาวุธปืนทุกชนิดได้อย่างแม่นยำและใช้วัตถุระเบิดทำลายสิ่งกีดขวางได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งฝึกให้มีทักษะในการซ่อนพรางตัวเพื่อทำหน้าที่พลซุ่มยิง(Sniper)ได้เป็นเวลานาน
ปัจจุบันหลักสูตรค้นหาช่วยชีวิตและหลักสูตรปฏิบัติการพิเศษได้ถูกผนวกเข้าเป็นหลักสูตรเดียวกัน โดยใช้ชื่อหลักสูตรว่า"หลักสูตรปฏิบัติการพิเศษ" ทำให้หลักสูตรมีความเข้มข้นขึ้นตลอดระยะเวลาการฝึก ๖ เดือน
หลักสูตรนักทำลายวัตถุระเบิดกองทัพอากาศ :มุ่งเน้นให้ผู้เข้ารับการฝึกมีความสามารถในการค้นหา พิสูจน์ทราบ วิเคราะห์ ประเมินค่า เก็บกู้ ถอดแยก ทำลายอาวุธ กระสุน วัตถุระเบิด และสิ่งอุปกรณ์ที่มีส่วนผสมของวัตถุระเบิด การรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ การหาข่าวและรวบรวมข่าวสารที่เกี่ยวกับเทคนิคในการทำลายวัตถุระเบิด ตลอดจนอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ใช้เวลาในการฝึกศึกษาประมาณ ๑๒ สัปดาห์ มีกองทำลายวัตถุระเบิด กรมสรรพาวุธทหารอากาศ เป็นหน่วยรับผิดชอบ

